ReadyPlanet.com


เคล็ดลับ "คนเก่ง" จากแอดมิชชั่น ปี 50


เคล็ดลับ "คนเก่ง" จากแอดมิชชั่น ปี 50


 


          ผลการประกาศแอดมิชชั่นประจำปี 2550 ที่ผ่านมา มีทั้งคนที่ผิดหวัง และสมหวัง แต่สิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงอยู่เสมอหลังการสอบเข้ามหาวิทยาลัย คือเด็กเก่งที่สามารถได้คะแนนสูงที่สุด

          โดยปีนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ประกาศรายชื่อเด็กที่สอบได้อันดับ 1 ในแต่ละคณะที่มีผลคะแนนรวมสูงสุดตามลำดับ หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมปีนี้จึงไม่มีคณะแพทย์รวมอยู่ด้วย สาเหตุเป็นเพราะปีนี้คณะแพทย์จาก 9 สถาบัน ได้แยกรับตรงไปก่อนแล้ว

          สำหรับเคล็ดลับของผู้พิชิตผลคะแนนรวมสูงสุดในแต่ละคณะ ต่างมีรูปแบบการเรียน การค้นคว้าเพิ่มเติมที่แตกต่างกันไป อย่าง

          อันดับ 1 ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนน 93.16 คะแนน เป็น "ต้น" หรือนายปุรเชษฐ์ มนัสศิริเพ็ญ นักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา บอกว่า คาดหวังเพียงแค่จะสอบติดเท่านั้น ไม่คิดว่าจะทำคะแนนสอบเป็นอันดับหนึ่ง

          "ต้น" เผยว่า ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกสอบ ก็รู้สึกกดดันอยู่พอสมควร โดย "ต้น" เล่าว่า "ปีนี้เด็กนักเรียนที่เรียนเก่งๆ ในโรงเรียนของผม โดยเฉพาะประมาณ 1 ใน 3 ของเด็กสายศิลป์ มุ่งสมัครคัดเลือกเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ ซึ่งก็กดดันเพราะรู้สึกว่าการแข่งขันเข้าเรียนคณะนี้สูงมาก ทำให้ตลอดเทอม 1 และเทอม 2 ในชั้น ม.6 ต้องอ่านหนังสืออย่างหนักตั้งแต่เลิกเรียนประมาณบ่าย 3 โมง จนถึงประมาณ 5 ทุ่ม เป็นประจำทุกวัน นอกจากนั้นก็จะช่วยกันกับเพื่อนๆ แลกเปลี่ยนหาตำราเรียนดีๆ หนังสือสรุปแนวข้อสอบ เทคนิคการสอบของโรงเรียนกวดวิชาต่างๆ มาแลกกันอ่าน"

          ผู้พิชิตคะแนนสูงสุดของคณะยอดนิยมตลอดกาลอย่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นายช่วยราช วงศ์รัตนานนท์ นักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยคะแนน 92.14 คะแนน เล่าด้วยน้ำเสียงยังไม่คลายความตื่นเต้นว่า "ใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกรด้านปิโตรเลียม เพราะอยากมีส่วนช่วยแก้ปัญหาน้ำมันขาดแคลนที่เกิดขึ้นในประเทศ โดยผมเลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอันดับ 1 เพราะรู้สึกชอบ และถนัดในด้านการคำนวณ โดยวิชาที่ชอบคือ วิชาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยผ่านการคัดเลือก เข้าร่วมโครงการโอลิมปิกวิชาการ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) ด้วย"

          "ช่วยราช" เปิดเผยถึงเทคนิคในการเรียนว่า "ต้องรู้จักการแบ่งเวลาให้เหมาะสมระหว่างการเรียน และทำกิจกรรม นอกจากนั้นจะต้องทบทวนบทเรียนตลอดเวลา ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง เพราะหากรอไปอ่านหนังสือรวดเดียวตอนช่วงใกล้สอบเลยก็ทำให้ไม่ได้อะไร อีกทั้งอ่านหนังสือหนักๆ ในช่วงเดียวก็ยิ่งทำให้ร่างกายสู้ไม่ไหวด้วย ผลที่ออกมาอาจไม่ดีเท่าที่ควร ในส่วนการเรียนพิเศษนั้นส่วนตัวแล้วก็เห็นว่ามีความสำคัญระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนด้วยว่าถนัดด้านไหน เพราะนักเรียนบางคนอาจถนัดทบทวนบทเรียนด้วยตัวเอง หรือบางคนอาจถนัดเรียนพิเศษ ซึ่งก็ต้องแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน แต่สำคัญที่สุดคือจะต้องไม่หวังแต่จะต้องเรียนพิเศษเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจเรียนในห้องเรียน"
 

          ด้านน้อง "โอ๊ะ"น.ส.ณัฐชา อัศวชนานนท์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ทำคะแนนได้ 91.21 คะแนน สูงสุดของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เล่าว่า "เศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมได้เป็นอย่างดี ซึ่งโอ๊ะรู้ตัวตั้งแต่เรียน ม.6 ว่าสนใจและอยากเรียนด้านนี้ โดยเคล็ดลับในการเรียนของโอ๊ะคือจะต้องตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด ทำให้ดีที่สุด ทำความเข้าใจกับบทเรียนที่เรียนในห้องเรียน เมื่อถึงเวลาใกล้สอบก็จะได้ไม่ต้องมานั่งอ่านทบทวนใหม่ทั้งหมด หรืออาจมีติว กวดวิชาเพิ่มเติมในบางวิชา"

          "อยากฝากถึงน้องๆ ที่จะเตรียมตัวแอดมิชชั่นในรุ่นต่อๆ ไปว่า การเตรียมตัวให้พร้อมเป็นเรื่องสำคัญ ต้องหมั่นอ่านหนังสือ ทำความเข้าใจกับบทเรียนสม่ำเสมอ พยายามทำข้อสอบเก่ามากๆ เพื่อประเมินตัวเอง"

          อีกคณะเก่าแก่และยอดฮิตไม่แพ้กัน น้อง "โบว์"ชไมพร ศิริสัจจวัฒน์ นักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ทำคะแนนได้ 89.87 คะแนน สูงสุดของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า "เป็นคนชอบเรียนด้านภาษา เพราะแต่ละภาษาจะมีบุคลิกของตัวเอง บ่งบอกถึงลักษณะพิเศษ หรือเอกลักษณ์ ของคนในชาตินั้น ซึ่งไม่เหมือนกัน และในอนาคตอยากเรียนรู้หลายๆ ภาษา"

          "สำหรับแอดมิชชั่นปีนี้ โบว์เลือกคณะอักษรศาสตร์ เลือกเรียนภาษาเยอรมัน เป็นอันดับ 1 โดยในการเตรียมตัวก่อนสอบ ก็พยายามอ่านหนังสือ ท่องคำศัพท์อยู่เรื่อยๆ ค่อยๆ สะสมไว้ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาอัดๆ อ่านในช่วงใกล้สอบ สำหรับโบว์ไม่ได้กวดวิชาเพิ่ม แต่ติวด้วยตัวเอง โดยสรุปบทเรียนจากในห้องเรียน หมั่นทบทวนตำราเป็นประจำ"

          โบว์ยังฝากเคล็ดลับถึงน้องๆ ที่สนใจอยากเรียนด้านอักษรศาสตร์ว่า "อย่าท้อ ตั้งใจอ่านหนังสือ สนใจเรียนในห้อง และที่สำคัญคือจะต้องหมั่นทบทวนตำราเป็นประจำ"

         น.ส.กรณิศ ศักดิ์ศรชัย หรือน้อง "แตงไท" นักเรียนจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำคะแนนได้ 88.26 คะแนน เป็นอันดับ 1 ของคณะยอดฮิตอย่างคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ"การเตรียมตัวสอบ ไม่ได้เตรียมตัวนาน อ่านหนังสือในช่วงใกล้สอบ ซึ่งจริงๆ แล้ว แตงไทเรียนสายวิทย์มาตั้งแต่ ม.4 แต่เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นสายศิลป์ในช่วง ม.6 เทอม 2 เนื่องจากที่เลือกเรียนวิทย์ เพราะคิดว่าน่าจะมีทางเลือกที่กว้างกว่าสายศิลป์ แต่เมื่อเรียนไปแล้วกลับรู้สึกว่าไม่ชอบ จึงขอย้ายมาเรียนสายศิลป์แทน"

          จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง "แตงไท" จึงอยากฝากถึงน้องๆ ว่า "อยากให้ทุกคนพยายามค้นหาตัวเองว่าชอบ หรืออยากจะก้าวเดินต่อไปในด้านไหน และเลือกเรียนให้ตรงกับความต้องการและความถนัดของตัวเอง ในส่วนของการเรียนนั้น สำคัญคือจะต้องตั้งใจเรียนในห้องเรียน เมื่อมีข้อสงสัยหรือติดขัดก็ให้ถามอาจารย์ หรืออาจกวดวิชาเพิ่มเติมบ้างในบางวิชาที่ไม่เข้าใจจริงๆ"

          ขณะที่น้อง "ชัย"นายพรชัย แก้วทรัพย์ศักดิ์ นักเรียจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ทำคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยคะแนน 86.93 คะแนน เปิดเผยเคล็ดลับในการเรียนว่า "ปกติตั้งใจเรียนในห้องเรียนอยู่แล้ว เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเหนื่อยมุ่งอ่านหนังสือหนักๆ ในช่วงใกล้สอบ แต่ในช่วงใกล้สอบก็จะกลับมาทบทวนอีกครั้ง พร้อมทั้งจะนำข้อสอบเก่าๆ มาทดลองทำ และจะมีเรียนพิเศษเสริมในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

          "ชัย" เล่าว่า อนาคตอยากเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ เพราะชอบเรียนเคมี ไม่ค่อยชอบวิชาฟิสิกส์ และชีวะ อีกทั้งปัจจุบันมีปัญหาที่ครูในสายวิทยาศาสตร์ยังขาดแคลนอยู่มากด้วย

          น้อง "ขนุน"น.ส.มนพร พงศ์พงัน นักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รั้งตำแหน่งนักเรียนที่ทำคะแนนได้สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยคะแนน 85.65 คะแนน ฝากมาถึงน้องๆ ด้วยว่า "ในช่วงที่เรียนชั้น ม.ปลาย ต้องพยายามค้นหาตัวเองว่าชอบและถนัด อยากเรียนต่อด้านไหน เมื่อเราชอบและสนใจก็จะทำให้เรียนได้ดีส่วนการเรียนพิเศษ กวดวิชาเพิ่มเติมอาจสำคัญสำหรับคนที่ไม่อยากอ่านหนังสือเอง แต่ส่วนตัวจะสนใจเรียนในห้อง และทบทวนด้วยตนเอง จะเรียนพิเศษบ้างเพื่อไม่ให้ว่าง และเพื่อให้ตัวเองได้อยู่กับตำราเรียน ส่วนตัวเวลาใกล้สอบก็จะทำตำราเอง เพื่อติวกับเพื่อนๆ เช่นวิชาสังคม จะนำสิ่งที่จดเอาไว้ มาอ่านเฉพาะที่สำคัญๆ หรือโน้ตย่อมาอ่านเอง และรวมกลุ่มแบ่งกันติวกับเพื่อน อาจแบ่งกันรับผิดชอบกันคนละ 1-2 วิชา ก็จะทำให้ไม่ต้องมาอ่านใหม่ทั้งหมด"

          สำหรับระบบแอดมิชชั่น "ขนุน" ชี้ว่าไม่สามารถลดการเรียนพิเศษลงได้ แต่กลับจะยิ่งทำให้นักเรียนต้องเรียนพิเศษมากขึ้นด้วย บางคนอาจต้องเรียนตั้งแต่ ม.4-6 เพื่อให้ผลการเรียนเฉลี่ยดีขึ้น อย่างไรก็ตามขนุนฝากถึงน้องๆ ที่เข้าสู่ระบบแอดมิชชั่นในปีต่อๆ ไปว่า การเรียนต้องเริ่มแต่เนิ่นๆ ไม่เครียดที่เดียวก่อนสอบ ไม่ฟิตจัดจนโอเวอร์เกินไป เวลาที่เรียนในห้องต้องตั้งใจเรียนให้มากสุด พยายามทำความเข้าใจว่าอาจารย์สอนอะไร และต้องมีเป้าหมายหลักในชีวิต เพื่อที่จะได้มุ่งมั่นไปให้ถึง"

          ยอดฝีมืออีกคน "กันต์"นายกฤชบดี จ่ายเจริญ ว่าที่หนุ่มสถาปัตย์ นักเรียนจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ได้คะแนน 85.12 คะแนน สูงสุดของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า " ตัวเองเรียกได้ว่าเป็นนักกิจกรรมตัวยงคนหนึ่ง แต่ก็พยายามว่า ในการทำกิจกรรมอะไรนั้นจะต้องไม่ให้กระทบกับการเรียน หรือกระทบก็ให้น้อยที่สุด

          "ชีวิต ม.ปลายจะให้เรียนอย่างเดียวไม่ได้ แต่ถ้าอยู่ในห้องเรียนต้องให้ความสนใจ แบ่งเวลาให้ดี ค่อยๆ ทบทวนตำราเรียนไปเรื่อยๆ ไม่ใช่มาคอยอ่านหนังสือหนักๆ ในช่วงสอบ เพราะจะทำให้เครียดมาก สำคัญที่สุดคือจะต้องรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ดังนั้นอยากฝากถึงน้องๆ ให้พยายามค้นหา ให้รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากเรียนด้านไหน เพราะหากเราไปเลือกเรียนในสิ่งไม่ที่ชอบก็ย่อมทำไม่ได้ดี"

          นั่นคือที่มาที่ไปของเด็กเก่งในปีนี้ น่าจะเป็นบทเรียนและแนวทาง ให้รุ่นน้องๆ ในฐานะ "ว่าที่" เด็กเก่งในสนามแอดมิชชั่นปีต่อไป




ข้อมูลจาก

ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

http://hilight.kapook.com/view/11386

 



ผู้ตั้งกระทู้ P'Man กระทู้ตั้งโดยเว็บมาสเตอร์ :: วันที่ลงประกาศ 2009-05-12 16:15:43 IP : 58.8.177.219


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.